อัตลักษณ์ของโรงเรียนดรุณาราชบุรีวิเทศศึกษา
“ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรมพื้นฐาน ตามหลักพระคริสตธรรมและประเพณีไทย”
(Students have basic morality and virtues according to the Catholic teachings and Thai tradition.)
คุณธรรม จริยธรรม ตามที่โรงเรียนดรุณาราชบุรีวิเทศศึกษาซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนคาทอลิกกำหนด เป็นไปตามหลักพระคริสตธรรม หรือตามหลักคำสอนของศาสนาคริสต์ที่สอนด้าน คุณธรรม จริยธรรมพื้นฐาน ซึ่งสอดคล้องกับประเพณีไทย อันได้แก่ความอดทน ความรอบคอบ ความยุติธรรมและความพอประมาณโดยมีตัวอย่างถ้อยคำในพระคัมภีร์ที่บรรจุคำสอนเรื่องคุณธรรม จริยธรรมดังกล่าว อาทิเช่น
- “สิ่งใดจริง สิ่งใดประเสริฐ สิ่งใดชอบธรรม สิ่งใดบริสุทธิ์ สิ่งใดน่ารัก สิ่งใดควรยกย่อง ถ้ามีสิ่งใดเป็นคุณธรรม ถ้ามีสิ่งใดน่าสรรเสริญ ท่านจงพิจารณาสิ่งเหล่านี้ด้วยความใคร่ครวญเถิด” (ฟป. 4:8)
คุณธรรม (Virtue) เปรียบเสมือนเป็นรากฐานหรือรากแก้วของมนุษย์ อันส่งผลถึงการตัดสินใจและพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ นอกจากนั้น คุณธรรมมีพัฒนาการตามวัย ความรู้ สภาพสิ่งแวดล้อม การสั่งสอน และการฝึกฝนปฏิบัติในชีวิตประจำวัน การปลูกฝัง ส่งเสริม และพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมพื้นฐานทั้ง 4 ประการ อย่างต่อเนื่อง จะช่วยทำให้เกิดคุณธรรมย่อยอื่นๆ ตามมา ทำให้มนุษย์กระทำความดีหรือหลีกหนีความชั่ว มีทักษะในการเลือกปฏิบัติพฤติกรรมที่ดี ที่ถูกต้องจนเป็นนิสัยถาวร
คุณธรรมสำคัญทั้ง 4 ประการนี้ เป็นคุณธรรมหลักและเรียกร้องให้มนุษย์ทุกคนปฏิบัติแล้วความสุขจะเกิดขึ้น ใครก็ตามที่มีคุณธรรม เขาจะตัดสินทุกอย่างถูกต้อง ใครก็ตามที่ดำเนินชีวิตซื่อตรง ถูกต้องตามกฎระเบียบ เขาจะมีความสุขในชีวิตและสังคม (คุณธรรมความยุติธรรมและความรอบคอบ) ใครที่สามารถควบคุมตนเองให้กระทำแต่ความดี เขาจะมีความสุข เพราะเขาจะเป็นนายเหนือทุกสิ่ง (คุณธรรมความอดทนและพอประมาณ)
คุณธรรมเป็นแนวลักษณะแนวการดำเนินชีวิต ประพฤติปฏิบัติตน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งต่อตนเอง คนรอบข้าง รวมถึงสังคมส่วนรวมด้วย นอกจากนี้ คุณธรรม “พื้นฐาน” ทั้ง 4 ประการนี้ หากใครประพฤติปฏิบัติจนเป็นนิสัยแล้ว ย่อมก่อให้เกิดคุณธรรมใน “ระดับที่สูงขึ้น” ตามมาด้วย ซึ่งคุณธรรมพื้นฐาน สามารถอธิบายในแต่ละคุณธรรมได้ ดังนี้
ความอดทน (Fortitude) คือ การที่บุคคลใช้พละกำลังทั้งครบของตน โดยมีเหตุผลและแรงจูงใจตามธรรมชาติในการกระทำความดีหรือประพฤติกรรมดี โดยไม่กลัวความยากลำบากใดๆ แม้จะต้องเสียชีวิต คุณสมบัติสำคัญสำหรับผู้มีคุณธรรมความอดทน คือ ใจกว้าง ไม่เห็นแก่ตัว ใจกรุณา ความอดทน สม่ำเสมอ และพากเพียร
ความรอบคอบ (Prudence) คือ การที่บุคคลใช้เหตุผลที่ถูกต้องในการปฏิบัติ เป็นคุณธรรมที่ใช้เหตุผลตัดสินใจเลือกกระทำหรือหลีกเลี่ยงการกระทำ ความรอบคอบช่วยให้เลือกเครื่องมือหรือใช้แนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายจนสำเร็จ คุณสมบัติสำคัญสำหรับผู้มีคุณธรรมความรอบคอบ คือ ความจำ ความเข้าใจ ใฝ่รู้ใฝ่เรียน จิตใจมั่นคง มีเหตุผล มองการณ์ไกล ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และการระวังตนอยู่เสมอ
ความยุติธรรม (Justice) คือ คุณธรรมหลักของมนุษย์ในการอยู่ร่วมกันในสังคม คุณธรรมความยุติธรรมสร้างความกลมกลืนในมนุษยสัมพันธ์ ซึ่งช่วยสนับสนุนความเท่าเทียมกันในเรื่องบุคคลและความดีงามส่วนรวม ถ้าผู้ใดมั่นคงในการปฏิบัติคุณธรรมนี้จะเกิดคุณธรรมหรือพฤติกรรมอื่นๆ ตามมา คือ ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา ความเคารพรัก ความนอบน้อมเชื่อฟัง ความรู้บุญคุณ ความไว้วางใจ มิตรภาพ ความซื่อสัตย์ และความรักในความจริง
ความพอประมาณ (Temperance) คือ ความสามารถของบุคคลในการควบคุมความปรารถนาในการกิน การดื่ม ความพึงพอใจต่างๆ ความมัธยัสถ์เป็นการรู้จักกิน รู้จักดื่มและรับประทานให้พอประมาณ ไม่มากจนเกินไป ไม่เกินความต้องการของร่างกาย หรือน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ ความสามารถควบคุมตนได้คือบ่อเกิดของคุณธรรมอื่น ๆ อีกหลายอย่าง คือ ไม่ฟุ่มเฟือย มีสติ ความบริสุทธิ์ ความสุภาพ สงบเสงี่ยม
องค์อุปถัมภ์ของโรงเรียน “นักบุญยอห์น บอสโก” กับการปลูกฝังคุณธรรม
นักบุญยอห์น บอสโก (ค.ศ. 1815-1888)
“ทุกลมหายใจของพ่อ เพื่อเยาวชน”
นักบุญองค์อุปถัมภ์โรงเรียนดรุณาราชบุรีวิเทศศึกษา
นักบุญยอห์น บอสโก เกิดจากครอบครัวที่ยากจน แต่ร่ำรวยด้วยพรสวรรค์ ท่านได้รับกระแสเรียกเป็นพิเศษจากพระเจ้าให้อุทิศตนเองให้กับเยาวชน ต่อมาท่านได้บวชเป็นพระสงฆ์และเริ่มทำงานกับพวกเยาวชน โดยรวบรวมบรรดาเด็กเยาวชนที่ถูกทอดทิ้ง เร่ร่อน และยากไร้ หางานให้พวกเขาทำ หาบ้านให้อยู่ เป็นเพื่อนกับพวกเขา ท่านได้สร้างโรงเรียนฝึกหัดอาชีพและโรงงาน ช่วยเหลือเด็กเยาวชนให้มีอาชีพ มีงานทำ และสอนให้พวกเขาเจริญชีวิตเยี่ยงคริสตชนที่ดี ท่านได้พยายามอบรมเด็กเยาวชนแต่ละคนตามความถนัดและบุคลิกภาพของพวกเขา
คุณพ่อบอสโกอุทิศชีวิตทั้งหมดของท่าน ทำงานโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อความสุขและความยินดีของเยาวชน ท่านเคยกล่าวแก่เยาวชนครั้งหนึ่งว่า เพื่อพวกเธอ พ่อได้เรียน เพื่อพวกเธอ พ่อได้ทำงาน เพื่อพวกเธอ พ่อได้ดำเนินชีวิต “แค่พวกเธอเป็นเยาวชน พ่อก็รักพวกเธออย่างที่สุดแล้ว” วิธีการดำเนินชีวิตของท่านได้กลายเป็นระบบการอบรมเยาวชนที่เยี่ยมยอด ซึ่งรู้จักกันว่า “ระบบป้องกัน” ซึ่ง ใช้เหตุผลเพื่อสอนให้รู้ถึงคุณค่าที่นำไปสู่ความดีงาม ใช้ศาสนาเพื่อสร้างคุณธรรม มโนธรรม และความรับผิดชอบที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ และความรักใจดีเพื่อสร้างสัมพันธภาพและบรรยากาศแห่งครอบครัวที่มีความอบอุ่นและมีความสุขในชีวิต คุณพ่อบอสโกใช้ดนตรี กีฬา และการแสดงละครในการอบรมเยาวชนในโรงเรียน ความรักศรัทธาที่คุณพ่อบอสโกมีต่อองค์พระเยซูเจ้า โน้มนำให้ท่านใช้ความรักอภิบาลในการอบรมเยาวชนมากกว่าการลงโทษทางร่างกาย ด้วยคติพจน์ที่ว่า “ขอแต่วิญญาณ สิ่งอื่นไม่ต้องการ” คุณพ่อได้อุทิศชีวิตทั้งหมดในการนำเด็ก ๆ และเยาวชนไปสู่ความสุขที่แท้จริง
นักบุญ ดอมินิก ซาวีโอ หนึ่งในศิษย์ของคุณพ่อบอสโก กล่าวว่า “เราทุกคนที่อยู่โรงเรียนของคุณพ่อยอห์น บอสโก เราได้เรียนรู้ว่า ความศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่การเป็นผู้มีความร่าเริงอยู่เสมอ และอยู่ที่การทำหน้าที่ของตนให้ครบถ้วนมิให้ขาดตกบกพร่อง
เอกลักษณ์
“โรงเรียนแห่งการส่งเสริมศักยภาพทางภาษาอังกฤษ”
(Promoting English Proficiency School: PEP School)
การดำเนินงานตามแผนพัฒนาหรือแผนกลยุทธ์ของโรงเรียนดรุณาราชบุรีวิเทศศึกษา ผ่านความเห็นของคณะผู้บริหารและบุคลากรในองค์กร ร่วมกับความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษานั้น ยืนอยู่บนหลักการที่ว่า ทุกแผนที่ได้วางเอาไว้นั้นเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็น แต่สามารถปรับเปลี่ยนหรือบูรณาการได้ตามสภาพการณ์และสถานการณ์จริง (Situational Management) แผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการ รวมถึงแผนพัฒนาของโรงเรียนดรุณาราชบุรีวิเทศศึกษา ได้ดำเนินการสานต่อความสำเร็จ สร้างนักเรียนที่มีคุณภาพ เสริมภาพลักษณ์ของสถานศึกษา และตอบสนองความพึงพอใจของบรรดาผู้ปกครองต่อการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน
เมื่อพิจารณาด้านความสัมพันธ์กับสภาพการณ์ปัจจุบัน รวมถึงทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกโดยรวม ซึ่งประเทศไทยจะรวมกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเป็น “ประชาคมอาเซียน” (Asian Community) อย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น ต้องมีการวางแผนและปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับข้อตกลงต่าง ๆ โดยประเด็นที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องของ การ “เปิดเสรีทางการศึกษา” ดังนั้นสถานศึกษาทุกแห่งจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับยุทธศาสตร์และเป้าหมายในการผลิตนักเรียนออกสู่สังคมภายนอกให้สอดคล้องกับนโยบายระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับโลก
สิ่งที่ต้องตระหนักจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมอาเซียนคือการจัดระบบการศึกษาให้มีมาตรฐานเดียวกันในทุกประเทศและรับทราบข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกว่าจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างกัน ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงเร่งสร้างกลไกการขับเคลื่อนโดยประกาศให้ทุกสถาบันการศึกษาส่งเสริมให้มีการใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนทุกระดับ